แน่ใจได้อย่างไรว่าแค่ปวดท้องธรรมดา หรือเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
อาการปวดท้องหลายๆคนอาจคิดว่าแค่ปวดท้องเรื้อรัง เป็นโรคกระเพาะบ้าง หรืออาจคิดว่าคงไม่เป็นไร เดียวอาการก็หายทนๆ ไปก่อน แต่อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงที่อาจเป็น “โรคนิ่วในถุงน้ำดี” ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคอันตรายที่หลายคนอาจไม่คุ้นไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ปัจจุบันพบว่าเริ่มเป็นกันมากขึ้น ที่หากเป็นแล้ววิธีเดียวที่ดีที่สุดของการรักษาก็ คือต้องผ่าตัดเท่านั้น
นิ่วในถุงน้ำดี คืออะไร
นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) คือ ก้อนนิ่วขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี มักเกิดขึ้นเมื่อส่วนประกอบของน้ำดี โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลและบิลิรูบิน (สารให้สีในน้ำดี) เกิดความไม่สมดุล และมีการสะสมจนตกตะกอนเป็นก้อนผลึก โดยก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นนี้ อาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทราย หรือใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ และอาจมีได้ตั้งแต่หนึ่งก้อนจนถึงหลายร้อยก้อนก็เป็นได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก้อนนิ่วจะไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ และไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ในกรณีที่โรคลุกลามหรือเกิดการอักเสบก็อาจจะต้องผ่าตัดรักษา
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี เช่น
- อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
- ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินน้ำดี
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน น้ำหนักมาก
- ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่เป็นโรคเลือด โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย
- ผู้ที่ตั้งครรภ์หลายครั้ง
- ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิด
- ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนจากภาวะหมดประจำเดือน
- ผู้ที่อดอาหาร (ถือศีลอด) หรือลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว
- ผู้ที่รับประทานยาลดไขมันในเลือดบางชนิด
- ผู้ที่มีพันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัว
อาการแบบไหนที่เมื่อเป็นแล้วควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค
อาการบอกโรคนิ่วในถุงน้ำดีอาจไม่แสดงอาการใดๆ หรือมีบางอาการ เช่น
- มีอาการปวดท้อง ท้องอืด หลังรับประทานอาหาร
- รู้สึกแน่นท้อง อาหารไม่ย่อยหลังทานอาหารไขมันสูง เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง
- ปวดเสียดท้อง หรือปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่ ปวดร้าวไปสะบักขวา
- คลื่นไส้อาเจียน (ถุงน้ำดีติดเชื้อ)
- มีไข้หนาวสั่น ไข้สูงเฉียบพลัน (ถ้ามีการอักเสบของถุงน้ำดี)
- ดีซ่าน / ตัว – ตาเหลือง (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)
- ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)
สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยวิธีไหนได้บ้าง เช่น
การตรวจที่ดีที่สุด คือการพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยการทำอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen), การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าระบบทางเดินน้ำดี (MRI + MRCP) หรือการส่องกล้องด้วยการอัลตร้าซาวด์ (Endoscopic ultrasound) โดยแพทย์จะเลือกตรวจตามความเหมาะสมสำหรับคนไข้ในแต่ละราย ซึ่งการตรวจเหล่านี้จะทำให้เห็นรายละเอียดของก้อนนิ่วในถุงน้ำดีได้ชัดเจน
วิธีการรักษาด้วยเทคโนโลยีการส่องกล้องผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี, นิ่วในท่อน้ำดี
- แผลมีขนาดเล็กเพียงไม่กี่จุด
- โอกาสที่จะติดเชื้อน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
- สร้างความบอบช้ำให้กับร่างกายน้อยกว่า
- ใช้เวลาพักฟื้นเร็วและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
หลังจากผ่าตัดถุงน้ำดีออกไปแล้ว ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการย่อยอาหาร เพราะถุงน้ำดีเป็นเพียงที่เก็บพักน้ำดี แต่ควรลดของมัน เน้นทานผักและปลามากขึ้น เพื่อให้ห่างไกลจากอาการท้องอืด มีสุขภาพดีในระยะยาว และปฏิบัติตามความแนะนำของแพทย์
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. จักรกฤษ อุ้ยนิรันดรกุล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมทั่วไป
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป